อังคาร, เมษายน 16, 2024
   
Text Size

โครงการพระราชดำริ

cover_s01

โครงการพระราชดำริในระยะแรกๆ นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

1. โครงการที่มีลักษณะศึกษา ค้นคว้า ทดลองเป็นการส่วนพระองค์ โครงการดังกล่าวนี้เท่ากับเป็นการเตรียมพระองค์ในด้านข้อมูลและความรอบรู้ที่จะทรงนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาและเผยแพร่แก่เกษตรกร รวมทั้งเป็นการแสวงหาแนวทางการพัฒนาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยและสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องถิ่นด้วย

2. โครงการที่มีลักษณะเริ่มเข้าไปแก้ไขปัญหาหลักของเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรประสบปัญหาและอุปสรรคในการทำเกษตรกรรมมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งในขณะที่พระองค์ทรงมีโครงการทดลองและเรียนรู้ไปด้วยกัน จะทรงเริ่มก้าวเข้าสู่การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาของเกษตรกรอย่างแท้จริง ระยะแรกโครงการยังจำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะบริเวณรอบๆ ที่ประทับในส่วนภูมิภาค รูปแบบของการพัฒนาแก้ปัญหา คือ การพัฒนาแบบผสมผสาน (Integrated Development) หลังจากนั้นโครงการในลักษณะนี้ค่อยๆ ขยายขอบเขตออกไปสู่สังคมเกษตรกรในพื้นที่ที่กว้างขึ้น

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีอยู่มากมายหลายสาขา หลายประเภท ในระยะแรก มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ดังนี้คือ

1) โครงการตามพระราชประสงค์

หมายถึง โครงการซึ่งทรงศึกษาทดลองปฏิบัติเป็นส่วนพระองค์ ทรงศึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญในวงงาน ทรงแสวงหาวิธีการทดลองปฏิบัติ ทรงพัฒนาและส่งเสริมแก้ไขดัดแปลงวิธีการเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อดูแลผลผลิตทั้งในพระราชฐานและนอกพระราชฐาน ซึ่งต้องทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการดำเนินการทดลองจนกว่าจะเกิดผลดี ต่อมาเมื่อทรงแน่พระทัยว่าโครงการนั้นๆ ได้ผลดี เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง จึงโปรดเกล้าฯให้รัฐบาลเข้ามารับงานต่อภายหลัง

2) โครงการหลวง

พระองค์ทรงเจาะจงดำเนินการพัฒนาและบำรุงรักษาต้นน้ำลำธารในบริเวณป่าเขาในภาคเหนือ เพื่อบรรเทาอุทกภัยในที่ลุ่มล่าง ด้วยเหตุผลที่พื้นที่เหล่านี้เป็นเขตแดนชาวไทยภูเขา จึงทรงมีโอกาสพัฒนาชาวเขาชาวดอยให้อยู่ดีกินดี ให้เลิกการปลูกฝิ่น เลิกการตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อยลอย และเลิกการค้าไม้เถื่อน ของเถื่อน อาวุธยุทโธปกรณ์นอกกฎหมาย ทรงพัฒนาช่วยเหลือให้ปลูกพืชหมุนเวียนที่มีคุณค่าสูง ขนส่งง่าย ปลูกข้าวไร่ และเลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อบริโภค รวมคุณค่าผลผลิตแล้วให้ได้คุณค่าแทนการปลูกฝิ่น ทั้งๆที่งานของโครงการนี้กินเวลายาวนานกว่าจะเกิดผลได้ ต้องใช้เวลานานนับสิบปี การดำเนินงานจะยากลำบากสักเพียงใดมิได้ทรงท้อถอย การพัฒนาค่อยๆได้ผลดีขึ้นๆ ชาวเขาชาวดอยจึงมีความจงรักภักดี เรียกพระองค์ว่า“พ่อหลวง” และเรียกสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถว่า“แม่หลวง” โครงการของทั้งสองพระองค์จึงเรียกว่า “โครงการหลวง”

3) โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์

หมายถึง โครงการที่พระองค์ได้พระราชทานข้อเสนอแนะและแนวทางพระราชดำริให้เอกชนไปดำเนินการ ด้วยกำลังเงิน กำลังปัญญา และกำลังแรงงาน พร้อมทั้งการติดตามผลงานให้ต่อเนื่องโดยภาคเอกชน เช่น โครงการพัฒนาหมู่บ้านสหกรณ์เนินดินแดง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ ซึ่งสโมสรโรตารีแห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดและดำเนินงานตามพระราชดำริ โครงการพจนานุกรม โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เป็นต้น

4) โครงการตามพระราชดำริ

โครงการประเภทนี้เป็นโครงการที่ทรงวางแผนพัฒนา ทรงเสนอแนะให้รัฐบาลร่วมดำเนินการตามแนวพระราชดำริ โดยพระองค์เสด็จฯ ร่วมทรงงานกับหน่วยงานของรัฐบาล ซึ่งมีทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร โครงการตามพระราชดำรินี้ในปัจจุบันเรียกว่า“โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” มีกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ปัจจุบันมีลักษณะที่เป็นโครงการพัฒนาด้านต่างๆ ที่ดำเนินการเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาสั้น และระยะเวลายาวที่มากกว่า 5 ปี ขณะเดียวกันก็มีลักษณะที่เป็นงานด้านวิชาการ เช่น โครงการเพื่อการศึกษาค้นคว้าทดลอง หรือโครงการที่มีลักษณะเป็นงานวิจัย เป็นต้น

ที่มา : http://www.rdpb.go.th/
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)


ผู้ประสานงานโครงการตามพระราชดำริ ในจังหวัดระยอง
กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดระยอง
โทร.0-3864-0700 ต่อ 34122 e-mail: vipasri_kho@moi.go.th
Copyright(c) 2009 www.rayong.go.th. All rights reserved.

สำนักงานจังหวัดระยอง ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดระยอง
ศูนย์ราชการจังหวัดระยอง ถนนสุขุมวิท ตำบลเนินพระ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง 21150
โทรศัพท์ : 0-3869-4000, 0-3869-4010 แฟกซ์ : 0-3869-4160
E-mail : rayong@moi.go.th